Voice in the Gentle Wind

สิงหาคม 30, 2006

Java Studio Creator 2 ออก Hotfix 2 ปรับปรุงประสิทธิภาพ

Filed under: ide, java, netbeans — deans4j @ 5:46 am

หลังจากหลายคนบ่นกันว่า JSC อืดเหลือเกินแม้จะแก้บั๊กไปส่วนหนึ่งจาก HotFix ครั้งแรกไปแล้วก็ตาม วันนี้ซันออก HotFix 2 ให้อัปเดตกันได้แล้วครับ การอัปเดตครั้งนี้อ้างว่าประสิทธิภาพพัฒนาขึ้น 97% หากตีเป็นความเร็วคิดออกมาได้ว่าเร็วกว่าเดิม 32 เท่า! (เชื่อเค้าหน่อยเหอะ)

ตอนแรกผมก็ว่าข่าวออกจะโม้ๆ เพราะผมเคยลองเล่น JSC แต่ก็ต้องถอดใจเพราะมันช้าจนเสียอารมณ์และไม่อาจยอมรับสำหรับการใช้งานจริงได้ แต่หลังจากอัปเดตครั้งนี้และทดลองเปิดไปเปิดมาดู ก็เห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจนรู้สึกได้ การเปิดหน้าต่างๆ ก็ทำได้ลื่นไหลยิ่งขึ้นอย่างมากจนไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ดีถึงขั้นนี้ ถ้าใครเคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายกับมัน แนะนำว่าลองอัปเดตดูแล้วพิจารณาดูอีกที ใครที่ใช้งานเจ้าตัวนี้เป็นประจำแนะนำให้รีบอัปเดตอย่างที่สุด

ก้าวต่อไปของ JSC คงเป็นการหันไปทำ Creator Pack สำหรับ NetBeans อย่างจริงจังซักทีตามที่เคยสัญญาไว้ ซึ่งกว่าจะได้ใช้กันคงมาพร้อมๆ กับ NetBeans 6.0 พอดี ทางทีมงาน JSC ก็ให้สัญญาไว้ด้วยว่ายังจะปรับปรุงประสิทธิภาพของ JSC อย่างต่อเนื่องต่อไป

ใครอยากลองก็อัปเดตผ่านอัปเดตเซ็นเตอร์ใน JSC โดยตรงได้เลยครับ

ที่มา – Divas’s Blog

สิงหาคม 28, 2006

อัปเดตข่าวกันด้วยเรื่องของ IDEs

Filed under: java — deans4j @ 5:49 am

JDev – ออราเคิลออก JDeveloper 10.1.3.1.0 มาใหม่แล้วครับ ฟีเจอร์หลักๆ ที่เพิ่มเข้ามาคือการสนับสนุนการเขียน EJB 3.0, BPEL, ESB และ XSLT Mapping ถ้าใครเป็นนักพัฒนาคงรู้จักความสามารถพวกนี้ดีอยู่แล้ว ขออนุญาตขี้เกียจอธิบาย 🙂

NetBeans – ผมเป็นแฟน NetBeans เลยขอเชียร์เยอะหน่อย NetBeans 5.5 beta 2, NetBeans 6.0 M2 ก็ออกมาแล้วเหมือนกัน NetBeans 5.5 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Java EE 5 ล้วนๆ ตอนนี้ค่อนข้างเสถียรทีเดียว ตัว Enterprise Pack ก็ออกรุ่นที่เข้ากันได้กับรุ่นนี้ออกมาด้วย ส่วน NetBeans 6.0 M2 เพิ่มความสามารถใหม่อย่างการสร้าง Floating Window (ดูคลิปประกอบ) ในส่วนของ Profiler Pack 6.0 M2 ก็เพิ่มความสามารถในการทำ load testing โดยรวมเอา Apache JMeter เข้าไป บวกกับอีกหนึ่งคุณสมบัติใหม่ที่ชื่อว่า HeapWalk ว่าด้วยเรื่องความสามารถในการดูข้อมูลการใช้หน่วยความจำใน Heap แบบ realtime

Eclipse – ส่วน Eclipse 3.3 M1 ก็ออกมาสักพักแล้วนะครับ ในโลกของ Java EE 5 Eclipse ทำท่าจะดูอ่อนด้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ JDev หรือ NetBeans เอ้า IBM สู้ๆๆ 🙂

ที่มา – Oracle JDev, NetBeans.org, Eclipse.org

JDK 7 จะมี Closure และสนับสนุน EL ?

Filed under: java — deans4j @ 5:49 am

ว่าด้วยเรื่องของ JDK 7 กันต่อ แม้ตอนนี้ JDK 6 ยังไม่ออก จาวายังไม่โอเพ่นซอร์ส หรือแม้แต่ JSR ยังไม่มี แต่ JDK 7 ก็ออก build 1 มาแล้ว สำหรับแฟนๆ ผู้คลั่งไคล้สามารถดาวน์โหลดมาเล่นได้

ก็อย่างที่รู้กันครับว่าภาษา dynamic ช่วงหลังนี้มาแรงจนทำให้จาวาหันมาสนใจ(ซักที) ที่เป็นที่พูดกันมากในช่วงนี้คงเป็นข่าวเรื่องคำขอมี Closure ใน JDK 7 ที่เสนอโดย เจมส์ กอสลิง เจ้าพ่อจาวาและชาวคณะ ก็เป็นประเด็นที่ต้องคุยกันว่า สมควรมีหรือเปล่า มันคุ้มกันไหม

งง อะไรคือ closure? คลิ๊ก

อีกหนึ่งความสามารถที่จะเพิ่มเข้ามาคือ EL – Expression Language ที่ตอนนี้พบได้ในโลกของ JSP เท่านั้น เนื่องจากหลายๆ คนเห็นประโยชน์และความง่ายในการทำงานร่วมกับ JSP, JSF ทำให้มีการเสนอให้ EL แยกออกมาเป็น JSR ตัวใหม่ โดยรวมมันเป็นความสามารถของภาษาใน JDK 7 ข้อดีจากการเปิดให้ EL เข้าสู่โลกวินโดว์แอพลิเคชั่น เราอาจจะเห็นแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกับ Swing เช่น อาจจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับการทำ Inversion of Control หรือ data binding เป็นต้น

ที่มา – OnJava – Will We have closures in JDK 1.7
ที่มา – Ed Burn’s Blog – The Case for EL in Dolphin

ซันปล่อยมัสแตงเข้าป่า และดอลฟินลงทะเลลึกแล้ว

Filed under: java — deans4j @ 5:47 am

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับองค์การ UNESCO แต่อย่างใด แต่คาดกันว่าด้วยเรื่องชื่อทางการค้า ทำให้ซันต้องเปลี่ยนชื่อมัสแตง และดอลฟินไปเป็น JDK 6, JDK 7 (ชื่อเชยชะมัด) ผมคงจะคิดถึงมันทั้งคู่ที่มา – Ray Gans’s Blog

สิงหาคม 18, 2006

ตุลาคมนี้ เตรียมพบกับโอเพ่นซอร์สจาวา

Filed under: java — deans4j @ 5:50 am

ซันประกาศกำหนดการเบื้องต้นมาแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในตุลาคมปีนี้เราจะได้เห็นบางส่วนของจาวาในรูปแบบไลเซนส์โอเพ่นซอร์สกัน ข้อมูลส่วนแรกของ Java SE จะถูกปล่อยออกมาก่อนนั้น ประกอบไปด้วยตัวจาวาคอมไพเลอร์ (javac) และส่วนที่สองคือ HotSpot VM ทางซันเองคาดการว่าจะสามารถโอเพ่นซอร์สทั้งหมดได้ภายในกลางปีหน้า ส่วนกำหนดการทางด้าน Java ME คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีนี้

เรื่องของไลเซนส์ที่เป็นที่จับตามองอยู่จากหลายๆ คน ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ลอเรีย ทอลสัน รองประธานให้สัญญาแบบกว้างๆ ว่าจะเป็นไลเซนส์ที่เข้ากันได้กับ OSI ไลเซนส์แน่นอน (อาจจะหนีไม่พ้น CDDL ของซันเอง)

คนที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการโอเพ่นซอร์สจาวาได้ผ่านเว็บไซต์ใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้น ที่นี่

ที่มา – news.com

สิงหาคม 16, 2006

ซันเตรียมเปิดซอร์ส J2ME

Filed under: java — deans4j @ 5:51 am

หลังจากโดยสังคมภายนอกกดดันให้ซันปล่อยซอร์สโค้ดของจาวาอย่างหนัก ซันก็เริ่มกระบวนการเปิดซอร์สโค้ดของจาวาออกมาเรื่อยๆ โดยโมดูลแรกจะเป็น J2ME ที่เป็นจาวาสำหรับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเช่นมือถือ หรือพีดีเอ

ยังไม่มีการประกาศว่าซันจะใช้ไลเซนส์แบบใดกับซอร์สที่จะปล่อยออกมานี้ ที่น่ากลัวคือสุดท้ายซันอาจจะปล่อยซอร์สโค้ดออกมาเป็น CDDL ของซันเองเหมือนเมื่อก่อนทำให้สุดท้ายแล้วโลกโอเพนซอร์สก็ยังไม่ยอมรับกันอยู่ดี

ระยะหลังจาวาเสียตลาดเดสก์ทอปให้กับ .NET ของไมโครซอฟท์ไปค่อนข้างมาก พร้อมกับงานระดับเซิร์ฟเวอร์ที่เริ่มมีคู่แข่งรายใหม่ๆ เช่น Ruby on Rails หรือ Python เข้ามาขอส่วนแบ่งตลาด การเปิดซอร์สเพื่อซื้อใจนักพัฒนาในวงกว้างน่าจะช่วยให้จาวาครองตลาดส่วนใหญ่ไปได้อีกนานพอควร

ถ้าเปิดซอร์สแล้วให้นักพัฒนาโอเพนซอร์สเข้าไปช่วยกันเขียน มันจะเร็วขึ้นมั๊ยนะ?

ที่มาArsTechnica

สร้างเว็บไซต์หรือบล็อกฟรีที่ WordPress.com.